เยือนอยุธยากรุงเก่าตามรอยพุทธ ศิลป์ ตอน วัดราชบูรณะ อโยธยา

**ภาพร่างแสดงแบบวัดราชบูรณะในอดีตที่ป้ายแนะนำข้อมูลในวัด**

สวัสดีครับทุกท่านครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ผมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับไปทำบุญดูงานศิลป์ในวัด คราวนี้จะพาไปเที่ยวอยุธยากันต่อโดยเป้าหมายครั้งนี้อยู่ที่วัดราชบูรณะ ไม่ใช่ที่กรุงเทพนะครับ แต่เป็นที่อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อนโน่นครับ วัดราชบูรณะอยู่ใกล้กับวัดมหาธาตุ แถวป่าถ่านซึ่งสองวัดนี้มีแค่ถนนนเรศวรกั้นกลางเท่านั้น ซึ่งวัดนี้ในช่วงปี 2500 มีเรื่องฮือฮาเรื่องกรุแตกเนื่องจากมีคนไปขุดหาสมบัติ จนในที่สุดกรมศิลปากรเข้าไปปรับปรุงและขนสมบัติออกไปเก็บในพิพิทธภัณฑ์

**ภาพถ่ายจากวิหารด้าหน้ามองเข้าไปที่องค์พระปรางค์ประธาน**

ซึ่งสิ่งที่น่าเสียดายคือพระธาตุที่บรรจุภายในองค์ปรางค์ประธานนั้นหายไป และพระกรุส่วนหนึ่ง คือพวกพระเครื่องพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ทางกรมศิลป์ได้นำออกให้ประขาขนทั่วไปเช่าเพื่อหาทุนมาสร้างพิพิทธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ซึ่งพระกรุเนื้อชินเป็นที่นิยม รวมถึงพระแผงหนังและพระยอดธง ในอดีตการสร้างพระบรรจุลงไปในพระปรางค์ไม่ได้สร้างเพื่อเป็นของขลังแต่เพื่อเป็นการสืบสานพระพุทธศาสนา ในภาคหน้าเพื่อให้คนยุคหัลงพุทธศาสนาอายุครบ 2500 ปีได้สานต่อพระพุทธศาสนา คนโบราณช่างคิดนะครับ

**มุมมองเจดีย์คูหาปรางค์ด้านหลังเป็นองค์พระปรางค์ประธานที่สวยงาม**

ตามประวัติในราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ กล่าวไว้ว่าวัดนี้สร้างในปีพ.ศ.1967 โดยสมเด็จพระธรรมราชาที่2 หรือสมเด็จเจ้าสามพระยา ได้ทรงสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับเจ้าอ้าย เจ้ายี่ซึ่งทรงทำยุทธหัตถีแย่งชิงราชสมบัติกันแล้ว สิ้นพระชนม์ลงทั้งสองพระองค์ซึ่งบริเวณนี้และยังเป็นที่ปลงพระศพด้วย

**พระปรางค์ประธานที่ยังคงความยิ่งใหญ่เด่นตระหง่าน**

**ทางเข้ากรุชั้นบนที่มีภาพเขียนแนวจีนภายใน**

**ลายปูนปั้นรูปครุฑซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์และลายปูนน่าจะได้รูปแบบอิทธิพลศิลปะขอม เหมือนที่ลพบุรี**

ซึ่งที่น่าสนใจคือของที่เคยมีอยู่ในกรุมีทั้งเครื่องทองต่างๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพิพิทธภัณฑ์เจ้าสามพระยา และส่วนที่เหลือที่วัดคือภาพจิตรกรรมฝาผนังในกรุ ชั้นบนและชั้นล่างขององค์ปรางค์ประธานซึ่งมีอายุกว่า 500 ปีเรียกว่าเป็นงานจิตรกรรมแรกๆ ในสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งสีที่ใช้เขียนผสมยางไม้ติดทนทาน แม้จะเลือนหายไปแต่นับว่าสีดีกว่าในปัจจุบัน ในอดีตภาพเขียนไทยมักใช้สีไม่มาก เช่น เหลือง แดง ขาว ดำ ไม่มีมีสีทองซึ่งสีทองมานิยมในช่วงรัตนโกสินทร์

**บริเวณโดยรอบวัดราชบูรณะ ที่มองจากองค์ปรางค์ประธาน**

โดยวันที่ไปถ่ายภาพน่าเสียดายที่ภายในกรุองค์ปรางค์ ไม่มีการเปิดไฟภายในเหมือนทุกครั้ง เข้าใจว่าหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีอาจทำให้ระบบไฟเสีย เลยไม่สามารถถ่ายมาให้ชมกันได้ ครั้งหน้าจะเอไฟฉายไปเพื่อเก็บมาให้ชมอีกครั้ง เพราะแรงแฟรชไม่พอที่จะถ่าย ซึ่งในกรุชั้นบนี้เป็นที่ขุดพบพระพิมพ์ต่างๆเป็นแสนองค์และพระพุทธรูป โดยมีการโบกปูนทับไว้พร้อมกับภาพเขียนซึ่งน่าจะเป็นฝีมือช่างจีนเพราะวาดภาพเกี่ยวขุนนางและการเฉลิมฉลองมีลายเส้นแบบจีน เรียกว่าเขียนเสร็จใส่พระเข้ากรุดแล้วโบกปูนทับ เพื่อปิดกรุพระต่างๆที่ซ่อนไว้ ส่วนภาพเขียนอีกแห่งในกรุต้องลงบันไดไปในชั้นล่างซึ่งอยู่ลึกในบริเวณฐานองค์ปรางค์ส่วนชั้นล่างเป็นที่เก็บพวกเครื่องทอง พระขรรค์ เครื่องทรงของพระมหากัษตริย์ในสมัยก่อนและพระสารีริกธาตุ และองค์ปรางค์จำลองทำจากทองคำ ซึ่งภาพวาดทั้ง 4 ด้านวาดเรื่องอดีตพระพุทธเจ้า 24 องค์และพุทธชาดก บนเพดานกรุเป็นแผ่นไม้เขียนลวดลายดอกโบตั๋นซึ่งยังคงมองเห็นได้ชัดเจน ใครไปแล้วลองเข้าไปชมนะครับถ้าเขาเปิดไฟแล้วจะได้เห็นของดีเหล่านี้ครับ

**บริเวณโดยรอบองค์ปรางค์ประธานจะมีปูนปั้นพระพุทธรูปปางห้ามญาติอยู่ 4 ทิศ**

ส่วนด้านข้างองค์ปรางค์ประธานแต่เดิม มีองค์คูหาปรางค์ด้านข้างจะมีภาพจิตรกรรมเหมือนกัน ท่าน อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านได้ทำการคัดลอกไว้ประมาณ 2493 ผมจำปีได้ไม่แน่นอนแต่คร่าวๆว่าประมาณนี้ หลังที่ท่านคัดลอกเสร็จได้ไม่นานปรางค์องค์เล็กก็พังลงมาเป็นที่น่าเสียดาย ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีการปรับปรุงยังเป็นป่ารกที่มีสัตว์มีพิษอยู่มากมาย คนที่เข้าไปมักมีแต่พระธุดงค์หรือไม่ก็พวกเข้าไปหาขุดหาของเก่า

**ใบเสมาที่อยู่โดยรอบโบสถ์ด้านหลังพระปรางค์ประธาน บางชิ้นชำรุดเสียหายซึ่งสกัดจากหินแผ่นขนาดใหญ่**

**โบสถ์ด้านหลังพระปรางค์ประธาน ชำรุดเสียหาย พระประธานถูกทำลายเหลือเพียงอิฐก่อแค่ครึ่งองค์ลวดลายปูนที่ปั้นไว้ร่อนไปหมดแล้ว**

**ลายปูนปั้นรูปยักษ์ที่ฐานพระปรางค์แสดงท่าแบกรับพระปรางค์ ซึ่งรูปแบบนี้จะเห็นได้จากพระพุทธรูปสมัยอยุธยาจะมีฐานแบบนี้เช่นกัน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นอิทธิพลจากขอม**

ความอลังการ และลวดลายปูนปั้นที่ยังมีเหลือยู่ที่องค์พระปรางค์ประธานและตามกำแพงและฐานวิหารต่างๆ ซึ่งชัดเจนและยังสวยงามอยู่ซึ่งน่าทึ่งมากว่าในอดีตศิลปินเหล่านี้ช่างเก่งเหลือเกินที่สามารถรังสรรค์งานได้วิจิตรเช่นนี้

**องค์พระที่ชำรุดและลายปูนปั้นที่แตกหัก เราสามารถพบเห็นได้ทั่วบริเวณ**

สำหรับวัดราชบูรณะ อยุธยา ถ้าใครได้ผ่านไปที่บริเวณพระวิหารมงคลบพิตร หรือวัดพระศรีสรรเพชรญ์ ก็อย่าลืมแวะมาเที่ยวชมอดีตความรุ่งเรืองของวัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะซึ่งถือได้ว่าสมัยโบราณคือ พระปรางค์เจดีย์ประจำเมือง สำหรับวันนี้ขอจบเพียงเท่านี้พบกันใหม่ครั้งหน้ามาติดตามว่าจะพาไปที่ไหนกันครับ สวัสดี

ใส่ความเห็น